เมื่อตัดสินใจว่าจะปลูกบ้านเอง หลังจัดการเรื่องที่ดินเรียบร้อย สิ่งแรกที่ต้องคิดถึงคือ จะให้ใครออกแบบดี?
สถาปนิก
คือคนที่มีบทบาทสำคัญที่สุด ที่จะเข้ามาช่วยเราจัดสรรพื้นที่ใช้สอยต่างๆในบ้าน เพื่อให้สอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่และไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้าน เราจะอยู่และใช้ชีวิตในบ้านหลังนี้อย่างมีความสุขได้อย่างที่วาดหวังได้หรือไม่ ห้องนอนจะนอนได้หลับสบาย ให้เราพักผ่อนอย่างเพียงพอรึเปล่า? แดดจะส่องเข้ามามากหรือน้อย ทิศทางลมที่จะให้พัดผ่านเข้ามาในบ้านจะเหมาะสมดี? ล้วนเป็นเรื่องที่สถาปนิกจะเข้ามามีบทบาทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นคนที่จะออกแบบบ้านให้เรา “อยู่อาศัย” จึงควรจะเป็นคนที่ น่าจะเข้าใจเรา (ผมและแฟน) ได้มากๆพอสมควร
ผมค่อนข้างโชคดี เพราะเรียนจบมาจากคณะสถาปัตย์ฯ เลยมีเพื่อนสถาปนิกที่จะเป็นตัวเลือกหลายคน
คุณผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าทำไมผมไม่ออกแบบมันเองซะเลย ในเมื่อมันก็เป็นบ้านของเราเอง
คืออย่างนี้ครับ คณะสถาปัตย์ฯ เองก็มีหลากหลายภาควิชา ผมเรียนจบจากภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการออกแบบบ้าน (แม้จะถูกบังคับให้เรียนวิชาการออกแบบพื้นฐาน รวมถึงวิชาการออกแบบบ้าน อยู่ 3เทอมก็ตาม) ดังนั้นเลยไม่อาจหาญพอจะทำเกินความรู้ความสามารถ แถมวิชาเหล่านั้นมันก็ผ่านมาเกือบ 15-16ปี ไม่ต้องเดาก็น่าจะทราบว่า ผมได้คืนความรู้กลับไปให้ครูบาอาจารย์จนเกือบจะหมดสิ้นแล้ว ฮาา
ผมนึกถึงเพื่อนคนหนึ่ง น่าจะเป็นคนแรกๆเลยที่ผมจำได้ในคณะ เพราะวันสอบสัมภาษณ์เข้าโรงเรียนสถาปัตย์ฯ ได้คิวอยู่ใกล้ๆกัน หลังจากผ่านการรับน้อง… เตะบอลกันที่คอร์ดกลางตึก… เรียนอยู่ในคณะเดียวกันมา 5ปี…. กินดื่มมาด้วยกันบ้างหลังเลิกงาน ตามประสาคนเพิ่งเริ่มทำงานใหม่ๆ หลังจากนั้นก็ห่างหายกันไปตามแต่ละหน้าที่ของแต่ละกัน แต่แน่นอนว่ายังเห็นหน้าค่าตากันจากเฟสบุ๊ก ของพี่มาร์คนั่นแหละ

โชคดีตรงที่ว่าหลังแยกย้านกันไปหลายปี เพื่อนผมก็ดันเข้ามาทำงานในออฟฟิศที่อยู่ถัดจากที่ทำงานของผมไปเพียงแค่ 5ห้องแถวไปเท่านั้นเอง การได้ทักทายพูดคุยตอนเดินสวนกันระหว่างเดินไปห้องน้ำ หรือออกไปกินข้าวกลางวัน แม้แต่หลังเลิกงาน เลยเป็นเรื่องปกติมาก มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ เพื่อนผมเอ่ยปากทีเล่นทีจริงว่า “มึงจะแต่งงานยัง เดี๋ยวกูออกแบบเรือนหอให้” ผมก็หัวเราะขำๆ “เฮ้ย ได้เลยๆ” รับปากมันไป แต่ก็คิดในใจว่าน่าจะไม่มีโอกาสใช้บริการ เพราะอย่างที่บอก ในหัวตอนนั้น ไม่เคยคิดถึงออปชั่นของการปลูกบ้านใหม่เลย แต่ก็มีปรึกษากันบ้าง ในช่วงที่กำลังมองหาบ้านเก่าเอามารีโนเวท
ที่สำคัญกว่านั้น เราทั้งคู่ยังเชียร์สโมสรฟุตบอลเดียวกันอีกด้วย !! ฮาา
(น่าแปลก ตรงที่เพื่อนสถาปนิกของผมอีกคน ที่เคยคิดถึง และอยู่ในตัวเลือกที่อยากจะให้มาช่วยออกแบบบ้านให้ ก็เป็นแฟนบอลทีมเดียวกัน)
จากที่พูดคุยกันเล่นๆ ในตอนนั้น จึงไม่เคยคิดว่า มันจะเกิดขึ้นมาจริงๆ
ผมตัดสินใจว่าจะให้เพื่อนคนนี้แหละ มาออกแบบบ้านให้
…..
สรุปหลักเกณฑ์พิจารณาการเลือกสถาปนิก (ของผม)
- เลือกคนรู้จัก ในกรณีนี้ผมเลือกเพื่อนตัวเอง ที่รู้จักกันมาสิบกว่าปี เห็นนิสัยใจคอกันมานาน พูดคุยกันได้ง่ายๆสบายๆ จึงมั่นใจที่จะให้ช่วยออกแบบบ้านให้ หากเป็นกรณีของผู้อ่านที่กำลังมองหาสถาปนิกสักคน ผมแนะนำให้ใช้ระบบบอกต่อกันแบบปากต่อปากก็น่าจะดี ปรึกษาจากคนรู้จัก เพื่อน หรือญาติสนิทที่เคยปลูกบ้านให้ช่วยแนะนำให้ น่าจะอุ่นใจกว่า เพราะถ้าไม่ดีจริง หรือร่วมงานแล้วไม่ประทับใจ คงจะไม่มาแนะนำบอกต่อกันแน่ๆ
- เลือกจากผลงาน แม้จะเป็นเพื่อนกัน แต่ก็ต้องดูผลงานกันหน่อย เพื่อเช็คว่ามีความชอบ หรือเทสในการออกแบบที่ใกล้เคียงกับภาพในหัวของเรารึเปล่า หลังพูดคุยกันอย่างเป็นกิจลักษณะกันทีสองที ผมก็ค่อนข้างมั่นใจว่าเราน่าจะมีความชอบที่ไม่หลุดจากกันมากนัก
- เลือกคนที่เข้าใจและอยู่ข้างเรา เรตการคิดราคาค่าแบบของสถาปนิกมีเรตที่กำหนดค่อนข้างชัดเจนจาก สมาคมสถาปนิกสยาม โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นการประเมินค่าก่อสร้างทั้งหมด ดังนั้นงบประมาณของบ้านของผมซึ่งมีค่อนข้างจำกัด หากได้สถาปนิกที่เข้าใจเราในเรื่องนี้ จะช่วยเซฟค่าใช้จ่ายส่วนนี้ รวมถึงค่าก่อสร้างบ้านทั้งหลังได้ดีมากๆ ช่วยทำให้งบไม่บานปลาย เพราะสถาปนิกบางคนอาจจะถนัดออกแบบบ้านหรู ใช้วัสดุที่มีราคาแพง กรุผนังปิดผิวทุกด้าน ผนังปูนทาสีธรรมดาๆแทบจะไม่มี หรืออื่นๆ เพราะกลัวว่าบ้านจะไม่สวยสมกับที่ตนออกแบบ แบบนี้ก็อาจจะทำให้คุยกันลำบาก น่าจะเหมาะกับเจ้าของบ้านที่มีงบแบบทุ่มไม่อั้น แต่อันนี้เป็นเรื่องที่ผมเข้าใจได้นะครับ เพราะคนเราก็มีวิธีการทำงาน และรสนิยมที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น ถ้าได้สถาปนิกที่อยู่ข้างเรา เข้าใจหัวอกของเจ้าของบ้าน รับฟังความต้องการของเรา ช่วยออกแบบบ้านให้ประหยัดได้ ก็นับเป็นเรื่องที่ดีจริงๆ
- เชียร์ฟุตบอลทีมเดียวกัน ฮาาา
ในโพสต่อไป เมื่อได้สถาปนิกที่มั่นใจแล้ว เราจะพูดคุยอะไรกันบ้าง เพื่อให้ได้แบบบ้านที่จะใช้ก่อสร้างจริง…