ตามแบบก่อสร้างที่วิศวกรโครงสร้าง ออกแบบมาให้ บ้านของผมจะใช้ “เสาเข็มเจาะแห้ง” ซึ่งเป็นเสาเข็มขนาดเล็ก เหมาะกับการใช้ทำงานประเภทบ้าน ในเขตชุมชน ราคาอาจจะสูงกว่าเสาเข็มตอก แต่ข้อดีคือ ทำได้ง่าย ไม่เกิดเสียงดัง และการสั่นสะเทือนต่อเพื่อนบ้านใกล้เคียง ( ไม่งั้นอาจจะโดนงอนเอาได้ )
ที่เลือกทำในวันนี้ ก็เพราะได้ฤกษ์มาจากผู้ใหญ่ด้วยครับ สักช่วงบ่ายสามผมก็ขับมาที่หน้างาน ดูการเจาะเสาเข็มต้นแรก
ขั้นตอนการทำก็คือ ตั้งสามขาตามรูปครับ จากนั้นก็ตั้งแนวดิ่งให้ตรงตามแบบ แล้วใช้แท่งเหล็กที่แขวนไว้ เจาะลงไปทื่อๆเลย ไอ้เจ้าแท่งเหล็กนี่น่าจะหนักราวๆ 3 ตันได้ กดๆๆลงไปในดินแป๊บเดียว ก็ได้หลุมลึกประมาณ 1 เมตร จากนั้นก็เจาะเคสเหล็กลงไปต่อๆกัน ผ่านชั้นดินลึกลงไปจนได้ระดับ ระหว่างนั้นก็จะใช้ บัคเก็ต เจาะเอาดินออกมา ดินที่ได้มาก็ไม่สูญเปล่าด้วยครับ ก็จะใช้สำหรับถมดินรอบๆบ้านด้วย
จากนั้นก็จะใส่ โครงเหล็ก ตามที่วิศวกรได้คำนวณไว้ลงไปตามแนวหลุมที่เจาะ เทคอนกรีตลงไปแล้วถอดเคสเหล็กออก ระหว่างการทำงานต้องมีการตรวจสอบความคลาดเคลื่อนไม่ให้เสาเข็มเอียงออกไป เกินมาตรฐานตามแบบที่กำหนด
** ขั้นตอนการเจาะเสาเข็ม น่าจะกินเวลาไปอีกหลายวัน ผู้รับเหมาบอกผมว่า จะเตรียมเสาเข็มให้ผมไว้อย่างน้อยก็เข็มของ “เสาเอก” คือบริเวณเสาส่วนหน้าบ้านก่อน เพราะใกล้จะถึงฤกษ์กำหนดวันตั้งเสาเอกแล้ว (วันที่ 8 มีนาคมนี้) เหลือเวลาอีกแค่ประมาณ 10 วัน ถึงวันนั้นก็น่าจะทำเสาเข็มเสร็จไปบ้างแล้ว แต่อาจจะไม่ครบทุกต้นครับ
ผมไปเจอคลิปวิดีโอ ผลงานนักศึกษา ที่อธิบายเรื่องเสาเข็มเจาะไว้อย่างเข้าใจง่าย ใครสนใจเพิ่มเติมลองไปชมกันดูนะครับ 😀


